เขากวาง ๒

Mischocarpus sundaicus Blume

ชื่ออื่น ๆ
คอแลบแฮน, ไม้หนวดลิง (ตะวันออกเฉียงใต้); ซำลิง, แบกไพร, สีทัน (ใต้); อีติ้ว (ตะวันออก)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกตามพู รูปกรวย มี ๓ พู สุกสีแสด

เขากวางชนิดนี้เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๑-๖ ม. เปลือกเรียบ เกลี้ยง สีน้ำตาลคล้ำ กิ่งแข็งและเหนียวมาก

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ใบย่อย ๓-๖ ใบ ติดเป็นคู่ ๆ หรือเยื้องกัน รูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายสอบทู่ โคนมนและมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจาง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน และเป็นสันทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ มีเส้นแทรกประปรายระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหถี่ พอสังเกตได้ทั้ง ๒ ด้าน ตามง่ามเส้นแขนงใบด้านล่างมักมีตุ่มเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่อแห้งสีน้ำตาลแดงคล้ำ

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ๑-๓ ช่อ ยาว ๕-๒๕ ซม. ดอกเล็ก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมแหลม ๕ แฉก กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๐.๖๕-๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวอมเขียวอ่อน รูปไข่ กลีบงุ้มเป็นรูปช้อน ยาวเท่ากับแฉกกลีบเลี้ยงและเรียงสลับ ร่วงง่าย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๘ อัน ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ค่อนข้างกลม มักมีก้านชูรังไข่สั้น ๆ มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกตามพู รูปกรวย มี ๓ พู เห็นได้ชัดในผลอ่อน ด้านบนบุ๋ม ตรงกลางมีติ่งแหลม โคนสอบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๗-๒ ซม. โคนเรียวคล้ายก้าน ยาว ๒-๑๔ มม. สุกสีแสด เมล็ดกลมหรือคล้ายสามเหลี่ยม มี ๑ เมล็ด ผิวสีคล้ำและเป็นมัน

 เขากวางชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบ และป่าที่น้ำขึ้นถึง ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขากวาง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mischocarpus sundaicus Blume
ชื่อสกุล
Mischocarpus
คำระบุชนิด
sundaicus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
คอแลบแฮน, ไม้หนวดลิง (ตะวันออกเฉียงใต้); ซำลิง, แบกไพร, สีทัน (ใต้); อีติ้ว (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย